ความเป็นมาและแนวคิดการพัฒนากีฬา

ในปี  2553 มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาสนามกีฬาของวิทยาเขตหาดใหญ่
จำนวน  472.5 ล้านบาท เพื่อเตรียมการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ครั้งที่ 39  พ.ศ. 2555 ตลอดจนรองรับการส่งเสริมทางด้าน
การกีฬาให้กับนักศึกษา  บุคลากร และ บุคคลทั่วไป   โดยการก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬาและสนามกีฬาเพิ่มเติม
รวมทั้งปรับปรุงสนามกีฬาเดิม การบริหารสนามกีฬา
อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัฒนากีฬา กองกิจการนักศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ทิศทางการบริหารศูนย์กีฬาและสุขภาพ
วิทยาเขตหาดใหญ่

เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานในรูปแบบที่เลี้ยงตัวเองได้ จากงบประมาณเงินรายได้ของศูนย์ฯ และอาจเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยบางส่วน เท่าที่จำเป็น

พื้นที่ของศูนย์กีฬา

105,816 ตารางเมตร

หลักการและเหตุผล

มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองและการปกครองการที่จะพัฒนาประเทศเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต้องเร่งพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ    ทั้งในด้านสุขภาพร่างกายจิตใจอารมณ์สังคมและสติปัญญา

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในส่วนของนิสิตนักศึกษาเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีส่วนหนึ่ง  ได้แก่การให้ทรัพยากรดังกล่าวให้มี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ซึ่งการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าหมายถึงสภาพที่นิสิตนักศึกษามีภาวะสุขภาพอยู่ในระดับที่มีการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถศึกษาเล่าเรียนประกอบกิจการงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถาบันตลอดจนชุมชนและประเทศชาติซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตนักศึกษา คือกีฬาและกีฬาจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนานิสิตนักศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมของแหล่งวิชาการและบุคลากรในหลายสาขาวิชาชีพของภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งที่มีความพร้อมสูงในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางด้านการกีฬาของประเทศชาติการดำเนินงานด้านการกีฬาจะบรรลุเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบกีฬาโดยตรงหรือศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัย    

ในสภาพปัจจุบันการดำเนินการด้านการกีฬาเพื่อการแข่งขันเพื่อสุขภาพนักศึกษาและบุคลากรทั้งระดับในประเทศ หรือต่างประเทศ จะมีหลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบดูแล ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ขาดฐานข้อมูลด้านการกีฬา และขาดแผนงานการดำเนินการในภาพรวมของมหาวิทยาลัย การมีองค์กรที่รับผิดชอบทางด้านกีฬาโดยตรงจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานและการพัฒนาด้านกีฬา มีการกำหนดเป้าหมาย แผนงานและดำเนินงานอย่างเป็นระบบและมีระบบการประเมินที่ชัดเจน อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถทางการกีฬาปฏิบัติงานมีการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถศักยภาพ ของนักศึกษาและบุคลากร  รวมทั้งการดำเนินการในส่วนของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของทรัพยากรบุคคล   ในมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กีฬาที่จะประสานงานกับวิทยาเขตต่างๆ ในการพัฒนา และจัดการด้านการกีฬาเพื่อ การแข่งขันนำไปสู่ความเป็นเลิศ ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่